16.10.53

Envy & Jealousy : อิจฉาจัง..

เมือวานคุณแบงค์ @MJBank ขอคุณนิหน่า @Ninanaka แต่งงาน ขณะอัดรายการที่ช่อง 7 ช่างเป็นภาพที่น่ารัก ประทับใจผมจริงๆ   แต่ไม่อยากบอกเลยว่า ในใจลึกๆ แล้วอดอิจฉาทั้งคู่ไม่ได้ (อิๆ) ชักอยากจะไปขอใครแต่งงานบ้าง แต่ไม่รู้จะไปขอใครดี (แหะๆ)  เวลาพูดถึงคำว่า อิจฉา แล้วในภาษาไทยใช้คำศัพท์คำเดียวกัน แต่สำหรับภาษาอังกฤษ มีการแยกใช้ศัพท์สองคำ ที่บอกลักษณะของความอิจฉาที่แตกต่างกัน ผมขอยกมาเล่าให้ฟังโดยเริ่มจากคำว่า

Envy  (อ่านว่า เอ้น หวี่)  แปลว่า อิจฉา

คำนี้เป็นคำกริยา ก็ได้ เป็นคำนามก็ได้ สะกดเหมือนกันเป๊ะ โดยถ้าเป็นคำนามจะแปลว่า ความอิจฉา   ยกตัวอย่างประโยคที่ใช้ envy เป็นคำกริยา  เช่น 


I envy your husband. 
ผมล่ะอิจฉา สามีของคุณ จริงๆ เลย (ที่มีภรรยาสวย)  

เห็นได้ว่า ถ้าใช้ envy เป็นคำกริยา จะต้องมี กรรม มารองรับ คือ อิจฉา ใคร หรือ อิจฉาสิ่งใด ในประโยคตัวอย่างนี้คือ her husband นั่นเองที่เป็นกรรมของประโยค       แต่ถ้าจะลองใช้ envy เป็นคำนาม ก็จะได้ประโยคแนวประมาณนี้    His envy brings him to failure.  ความอิจฉาของเขา นำเขาไปสู่ความล้มเหลว.   ทีนี้เรามาดูกันอีกคำ ที่แปลว่าอิจฉา เหมือนกัน นั่นคือคำว่า

Jealous (อ่านว่า เจ หลัดส์) แปลว่า อิจฉา

คำนี้เป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) ซึ่งทำหน้าที่ขยายคำนาม หรือ วางไว้หลัง Verb to Be นั่นเอง มาดูตัวอย่างประโยคกันหน่อยเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

Steve is jealous of Paul's success in his new project.
สตีฟอิจฉาในความสำเร็จของโครงการใหม่ของพอล.

จะเห็นได้ว่า Jealous ในประโยคตัวอย่าง ทำหน้าที่ Adjective คือวางไว้หลัง Verb to Be (นั่นคือ is) เพื่อแสดงความอิจฉา   เกือบลืมบอกไปว่า คำว่า Jealous นี้ก็สามารถเป็นคำนามได้ด้วยนะครับ โดยให้เติม -y ไปด้านหลัง กลายเป็น

   Jealousy (อ่านว่า เจ หลัด ซี่) แปลว่า ความอิจฉา  

ทีนี้สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง แล้วคิดว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คงจะสงสัยว่า นอกจากตัวสะกดที่แตกต่างกันแล้ว คำสองคำนี้ มีความแตกต่างในการใช้งานอย่างไรบ้าง   หลักการง่ายๆ ที่ผมใช้แยกแยะเวลาเจอคำสองคำนี้ คือ  คำว่า Envy จะเป็นการ อิจฉา เพราะ "ต้องการที่จะมี" ในสิ่งที่คนอื่นมี   เช่นผมอยากได้รถเบนซ์รุ่นล่าสุดที่เห็นเพื่อนขับมา   หรือ อิจฉาที่เขามีแฟนสวย  คือ ความอิจฉาผมไม่ได้เน้นไปที่ตัวคนมาก แต่เน้นไปที่ "สิ่งที่เขามี" คือ อยากมี รถเบนซ์แบบนี้บ้าง  อยากมีแฟนสวยแบบนี้บ้าง

ส่วนการอิจฉาแบบ Jealousy นั้น เป็นการอิจฉาที่ดูจะมุ่งร้ายมากกว่า นั่นคือ ไม่ต้องการให้คนๆนั้น มีในสิ่งที่เราคิดว่า มันควรจะเป็นของเรา  เช่น อิจฉาเพื่อนที่มีแฟนสวย ทั้งๆ ที่สาวคนนั้น ควรตกเป็นของเรามากกว่า  แบบนี้เป็นการอิจฉาที่มุ่งไปที่บุคคลซึ่งเขาครอบครองสิ่งนั้นอยู่  ดังนั้นจะเป็นได้ว่าระดับความอิจฉาในแบบ Jealousy นี้รุนแรง เป็นผลเสียมากกว่า เพราะ การอิจฉาแบบนี้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต  แต่การอิจฉาแบบ Envy นั้น จะเสริมแรงให้ตั้งใจทำงาน เก็บตัง เพื่อซื้อรถเบนซ์มาขับบ้าง     ไม่รู้อ่านแล้วจะงงกันหรือเปล่า กับตัวอย่างที่ผมยกมาเปรียบเทียบอธิบาย

ก่อนจะจบแถมให้อีกเรื่องนะครับ สำหรับความหึงหวงของบรรดาคุณสุภาพสตรีที่สามีแอบไปมีกิ๊ก  ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Jealousy นะครับ เพราะ การหึงหวงนั้น เกิดจากมุมมองที่ว่า สามี เป็นสมบัติของฉัน ไม่อยากให้กิ๊ก คาบไปครอบครอง จึงเข้าข่าย Jealousy มากกว่า Envy  แต่ถ้าเป็นกรณีสาวโสดแล้วเห็นแฟนเพื่อนน่ารักนิสัยดี อยากมี "แบบนี้" บ้าง อันนี้ก็จะเข้าข่าย Envy เพราะเป็นลักษณะว่า ฉันเห็นแล้วอิจฉา จะต้องหาชายดีๆ แบบนี้บ้างให้ได้ (ไม่ได้อยากแย่งเพื่่อน แต่อยากหาใหม่ดีๆ แบบนี้ด้วยตัวเอง)

เอาละนะครับ คงพอจะเข้าใจกันพอสมควรแล้ว สำหรับคำว่าอิจฉา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่คำที่เลวร้ายอะไรไปเสียทั้งหมด หากเพียงแต่เรารู้จักที่จะแปรเปลี่ยนมันเป็นพลัง เพื่อผลักดันให้เราได้สิ่งที่ดีๆ ในชีวิต โดยไม่ต้องไปคิดแย่งอะไรจากใคร พูดกันง่ายๆ คือ ให้ Envy แต่อย่าไป Jealousy นั่นเอง

Envy .. คนมีรักที่แสนหวานครับ

อาจารย์บอม
16-10-2010

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 มีนาคม 2554 เวลา 16:55

    อธิบายได้ดีมากเลยค่ะ เห็นความแตกต่างได้ชัดเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

    ตอบลบ
  2. ดีใจที่บทความนี้เป็นประโยชน์และช่วยให้เข้าใจคำศัพท์ภาษาอังกฤษและความแตกต่างของแต่ละคำได้ดีขึ้นนะครับ

    ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ แล้วแวะมาอ่านบ่อยๆ นะครับ :D

    ตอบลบ
  3. นั่งเถียงกับเพื่อนตั้งนาน เกี่ยวกับการใช้ ศัพท์ 2 คำนี้ อ่านเข้าใจมากขึ้นค่ะ ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ

    ตอบลบ
  4. Envy อิจฉา
    Jealousy ริษยา

    แบบนี้น่าจะถูกต้อง ริษยาดูรุนแรงกว่าอิจฉามาก เพราะริษยาจะไม่สนใจความอะไรถูกผิด

    ตอบลบ