15.6.57

All – Whole : ทั้งหมด ทั้งมวล ต่างกันอย่างไร?

มีมิตรรักแฟนประจำ ได้ถามว่าอะไรคือความแตกต่างในการใช้งานคำว่า All กับ Whole” ที่ แปลว่า “ทั้งหมด”    ได้ฟังคำถามแล้วอึ้งไป 5 วินาที ก่อนที่จะเริ่มลำดับความรู้ในสมองว่า สองคำนี้มีการใช้งานต่างกันตรงไหนบ้าง  ขอเริ่มที่คำว่า

All (อ่านว่า ออล) แปลว่า “ทั้งหมด”

คำนี้เป็นได้ทั้งคำนาม คำสรรพนาม  คำคุณศัพท์ และคำกริยาวิเศษณ์ แปลว่า “ทั้งหมดจำนวนทั้งหมด, ทุกคน”  คำๆ นี้มีการใช้งานที่น่าสนใจ แต่น่าสนใจแบบไหนอย่างไรมาลองมาดูกันที่ตัวอย่างนี้ดีกว่า

All of  them  need  to go to school.   พวกเขาทั้งหมด จำเป็นต้องไปโรงเรียน

All the students need to go to school.  นักเรียนทั้งหมดจำเป็นต้องไปโรงเรียน


จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประโยคล้วนใช้ All เหมือนกันแต่ ประโยคแรก จะมีคำว่า of ตามหลัง All ส่วนประโยคที่ 2 จะตามด้วยคำนามคือ the students  เลย ความแตกต่างในการใช้งานตรงนี้คือ ถ้าคำที่ตามหลัง All เป็นคำสรรพนาม ในรูปแบบที่เป็นกรรม (Object Pronoun) เราจะใช้ of ตามหลัง All แต่หากคำที่ตามหลัง All เป็นคำนาม เช่น the students ก็ไม่ต้องมี of ใช้เป็น All the students ได้เลย   ทีนี้เรามาดูอีกคำที่มีความหมายเหมือนกันกับคำว่า All ดีกว่า นั่นคือ

Whole (อ่านว่า โฮลแปลว่า “ทั้งหมด”

คำนี้เป็นได้ทั้งคำนามและคำคุณศัพท์  แปลว่า “ ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, สมบูรณ์, ครบถ้วน.”  หากมองเผินๆ ในด้านคำแปลและความหมายนั้น  ทั้ง Whole และ All มีความหมายที่ใกล้เคียงกันมาก แต่หากจะแยกแยะการใช้งานกันจริงๆ สองคำนี้มีความแตกต่างกันอยู่ตรงที่  All  จะใช้กับของหรือคนจำนวนมากที่มาอยู่รวมกัน (ยังมองเป็น “จำนวนมาก” อยู่)    แต่ Whole  จะมองการรวมกันทั้งหมดนี้เป็น “หนึ่งเดียว”  เช่น กลุ่มเดียว หรือพวกเดียว  ดังนั้นคำนามที่ตามหลัง  All จะอยู่ในรูปพหูพจน์  ส่วนคำนามที่ตามหลัง  Whole จะอยู่ในรูปเอกพจน์ มาดูตัวอย่างกัน

All the students need to go to school.  นักเรียนทั้งหมดจำเป็นต้องไปโรงเรียน

The whole group  needs  to go to school.  ทั้งกลุ่มนี้จำเป็นต้องไปโรงเรียน

จากตัวอย่างจะเห็นว่าเมื่อใช้  All  เรามองนักเรียนเป็นพหูพจน์ ดังนั้น  Students  จึงเติม  s  แต่เมื่อเราใช้  Whole เราจะมอง Group เป็นเอกพจน์ จึงไม่เติม s  ดังนั้น  All  จะใช้ในกรณีที่เป็นพหูพจน์คือมองเป็นของ “หลายสิ่ง” รวมตัวกัน    แต่ Whole จะเป็นการมองแบบเอกพจน์ คือ  หลายสิ่งรวมกันเป็น “หนึ่งเดียว”

หากคราวหน้ามีเวลา จะนำเรื่องราวของ  All กับ Whole ในมิติของกาลเวลาและการใช้งานด้านอื่นๆ มาเล่าให้ฟังอีก แต่สำหรับวันนี้เนื้อที่หมดแล้ว ขอจบไว้เท่านี้ก่อนครับ

อาจารย์บอม 
15-06-2014

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณคะ. อยากรู้อยู่พอดีเลยคะ
    **รอบทความ All. กับ Whole ในมิติกาลเวลานะคะ
    เพื่อนเขียนบ่อยมากเลย Whole day..งง! ค่ะ^o^

    ตอบลบ