อย่างที่เคยเล่าให้ฟังหลายครั้งว่า คำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคู่นั้น นอกจากจะสะกดออกมาใกล้เคียงกันแล้ว
ยัง ออกเสียงใกล้เคียงกันอีกด้วย แต่พอแปลความหมายออกมากลับแตกต่างกันอย่างมากมาย
คำศัพท์ลักษณะแบบนี้ล่ะครับ
ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้ที่เริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกันมานักต่อนักแล้ว วันนี้ผมนึกคำศัพท์ขึ้นมาได้อีกคู่หนึ่ง
ที่เข้าข่ายนี้ เลยขอหยิบมาเขียนมาเล่าให้ฟังกัน ขอเริ่มที่
Assess (อ่านว่า อะ เสส) แปลว่า
ประเมิน
คำนี้เป็นคำกริยา แปลว่า “ประเมิน” ใช้ในการประเมินค่า หรือประเมินราคา
รวมทั้งยังอาจหมายถึง “ประเมินภาษี” ได้อีกด้วย ถ้าต้องการให้เป็นคำนาม จะใช้คำว่า Assessment ซึ่งจะมีความหมายถึง
“การประเมินภาษี หรือการประเมินราคาที่ดิน หรือการประเมินรายได้” ในประเทศอังกฤษคำว่า Assessment ยังอาจหมายถึง “การประเมินผลการเรียน” ของนักศึกษา ด้วย
แต่ที่น่าสนใจจนต้องนำมาเล่าวันนี้ ก็เพราะคำศัพท์คำนี้
มีคำคู่แฝดที่คล้ายคลึงกันมากอีกคำหนึ่งนั่นคือ
Access (อ่านว่า แอ๊ค เสส) แปลว่า เข้า
คำนี้เป็นคำนามแปลว่า “ทางเข้า” ตัวอย่างเช่น This new shop needs an easy
access. ร้านใหม่นี้จำเป็นต้องมีทางเข้าที่ง่ายๆ อย่างไรก็ตามคำว่า Access สามารถใช้เป็นคำกริยาได้อีกด้วย และเรามักจะพบเห็นคำนี้ในแวดวงคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ท
โดยมีความหมายถึง “สิทธิ์ในการเข้าใช้” หรือ “สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล” เช่น
John is the only one who can access
his bank account online.
จอห์นเป็นคนเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงบัญชีธนาคารออนไลน์ของเขา
จะเห็นได้ว่า
แม้คำแปลของคำศัพท์สองคำข้างต้นจะแตกต่างกันอย่างมากมาย
แต่การออกเสียงคำศัพท์ทั้งสองกลับใกล้เคียงกันมาก เราลองมาออกเสียงกันดูอีกรอบนะครับ Assess ( อะ เสส) และ Access (แอ๊ค เสส) เป็นอย่างไรบ้างครับ ใกล้เคียงกันมากเลยใช่ไหม? อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าจุดแตกต่างที่สำคัญอยู่ที่การออกเสียงพยางค์แรกนั่นเอง คำว่า Assess ที่แปลว่า “ประเมิน” จะออกเสียงคำหน้า สั้นกว่า คือ
ออกแค่เสียง “อะ-เสส” ส่วนคำว่า Access ที่แปลว่า “เข้า”
จะออกเสียงเน้นหนักลงที่พยางค์หน้าคือ “แอ๊ค-เสส”
ดังนั้นเมื่อใดที่เราได้พบได้เจอคำศัพท์สองคำนี้
เราคงจะต้องสังเกตการออกเสียงพยางค์แรกให้ดี
รวมทั้งอาจจะต้องใช้วิธีการแปลความหมายรวมๆ
ของประโยคเข้ามาช่วยตีความด้วย ซึ่งเทคนิคต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยเราลดความผิดพลาดในการแปลความหมายไปได้มากเลยทีเดียว
อาจารย์บอม
22-09-2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น